งานจุฬาฯวิชาการเป็นงานนิทรรศการที่จัดขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมของคณาจารย์และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ โดยงานจุฬาฯวิชาการกำหนดให้จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 3 ปี

ประวัติความเป็นมา

แต่เดิมนั้นการนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งของนิสิตและบรรดาคณาจารย์ดำเนินไปในลักษณะของการเปิดให้เข้าชมภายในคณะ (Open House) ซึ่งการจัดงานในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยเอกเทศ แต่ละคณะจัดงานในส่วนของตนเองทำให้ภาพรวมของกิจกรรมทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เป็นเนื้อเดียวกัน มีการแบ่งแยกไปตามพรมแดนของศาสตร์ต่างๆ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จึงได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นสมควรให้จัดงาน "จุฬาฯวิชาการ" ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2515 ด้วยงบประมาณดำเนินงานสโมสรนิสิตที่ได้รับจัดสรรประจำปีจากมหาวิทยาลัยและเงินสนับสนุนจากภายนอก โดยกำหนดให้จัดกิจกรรมนี้ทุกๆ 3 ปี การดำเนินงานในช่วงแรก (พ.ศ. 2515, 2521, 2524, 2527) ยังไม่อาจตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเผยแพร่องค์ความรู้ออกสู่สังคมภายนอกได้มากนัก ในปีพ.ศ. 2530 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงมีมติให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นกิจกรรมร่วมระหว่างคณาจารย์และนิสิต โดยมีองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ประสานงานหลักในนามคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งแนวคิดหลักของการจัดงานในแต่ละปีมีดังต่อไปนี้

  • ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2530 วิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
  • ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2533 วิทยาการรุดหน้าเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม
  • ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2536 สิทธิมนุษยชน
  • ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2539 ทบทวนเพื่อสร้างสรรค์
  • ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2542 ปี 2000 มองผ่านกาลเวลาสู่ศตวรรษหน้าพัฒนาสังคมไทย
  • ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2545 กู้วิกฤตช่วยกันคิดช่วยกันทำ
  • ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2548 สานความรู้สู่แผ่นดิน
  • ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2551 พลังแห่งปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • พ.ศ. 2554 (ยกเลิก) เสาหลักแห่งปัญญา สืบราชมรรคาพัฒนาแผ่นดิน
  • ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2555 เสาหลักแห่งปัญญา สืบราชมรรคาพัฒนาแผ่นดิน
  • ส่วนของคณะวิทยาศาสตร์

    หัวข้อการจัดงานในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2555 คือ “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต และอนาคต (Science for Life and Future)” ซึ่งงานนั้นจะจัดในวันที่ 14-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ช่วงเวลางานในแต่ละวันจะเริ่มเปิดให้ผู้เข้าชมได้ในเวลา 9.00 – 19.00 น. แต่ในวันที่ 18 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานนั้นจะเปิดให้ผู้เข้าชมงานได้ตั้งแต่ 9.00 – 15.00 น.

    โดยภายในงานนั้นจะมีจัดแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่ามีความจำเป็นต่อความก้าวหน้าของประเทศในอนาคต และมีการจัดแสดงละครของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้เข้าชมงาน

    นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเนื้อหาหลักสูตรและกิจกรรมสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าศึกษาในแต่ละสาขาวิชาทั้ง 14 ภาควิชาของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการแบ่งเป็น 4 กลุ่มวิชา คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ (ภาควิชาเคมี, ภาควิชาฟิสิกส์ และภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์), กลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ภาควิชาชีวิทยา, ภาควิชาชีวเคมี, ภาควิชาพฤกศาสตร์ และภาควิชาจุลชีววิทยา), กลุ่มเทคโนโลยี (ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร, ภาควิชาเคมีวิศวกรรม, ภาควิชาวัสดุศาสตร์ และภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและวิทยาการทางการพิมพ์) และกลุ่มวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล, ภาควิชาธรณีวิทยา และภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) นอกจาก 4 กลุ่มวิชาหลักแล้ว ยังมีกลุ่มที่เป็นสหสาขา (เป็นระดับปริญญามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต) ซึ่งมีทั้งหมด 8 หลักสูตร (หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ, หลักสูตรปิโตรเคมีและวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์, หลักสูตรเทคโนโลยีการเกษตร(นานาชาติ), หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหโมเลกุล, หลักสูตรมาตรวัดวิทยา, หลักสูตรเทคโนโลยีเยื่อและกระดาษ, หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร, หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต) กับ 1 สาขาวิชา (สาขาธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมหลักสูตรนานาชาติ)

    และจะมีการจัดแสดงเนื้อหาที่เป็นข้อถกเถียงในสังคมสำหรับในแง่มุมและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมไทยมีความเข้าใจอย่างกระจ่างและเห็นความสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการจุดประกายความฝันและความหวังของผู้เข้าชมงาน รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับคณะวิทยาศาสตร์ที่คนทั่วไปมองว่า “วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ยากจะเรียนรู้” ให้เป็น “วิทยาศาสตร์นั้นไม่ยาก ขอเพียงเริ่มใส่ใจ”